หลังจากสิ้นสุดฤดูกาล 2021/22 สโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ได้ เอริก เทน ฮาก เป็นกุนซือถาวรคนต่อไปของสโมสร วันนี้เทพแมนยูจึงอยากจะพาทุกคนไปย้อนดูนายใหญ่ทั้งหมด ก่อนจะมาถึง เอริก เทน ฮาก ทัพ “ปีศาจแดง” เคยมีกุนซือมาแล้วกี่คน และใครบ้าง โดยจะแบ่งเป็นสองตอนช่วง ลีกเดิม(ดิวิชั่น 1) และ พรีเมียร์ลีก
ลีกเดิม(ดิวิชั่น) (1888 – 1992)
1.อัลเฟร็ด ฮูเบิร์ต อัลบัต (1892-1900)
อัลเฟร็ด ฮูเบิร์ต อัลบัต เลขาธิการคนแรกของสโมสร นิวตัน ฮีธ โดยแรกเริ่มนั้น ยังไม่มีการใช้คำว่า ผู้จัดการทีม เหมือนเช่นทุกวันนี้
อัลบัต มีบทบาทอย่างมากในการพาทีมลอยตัวผ่านวิกฤติทางการเงินในช่วงก่อตั้งสโมสรช่วงแรกๆ ในปี 1892 และพาทีมย้ายสนามเหย้าจาก นอร์ท โร้ด ไปยัง แบงค์ โร้ด กราวด์
2.เจม เวสต์ (1900-1903)
เป็นคนที่เข้ามาดูแลสถานะการเงินที่ใกล้จะล่มสลายของ นิวตัน ฮีธ และเกือบจะถึงขั้นล้มละลาย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
เจม เวสต์ จึงได้ชื่อว่าเป็น เลขาธิการ คนแรกของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
3.เจมส์ เออร์เนสต์ มังนัลล์ (1903-1912)
เออร์เนสต์ มังนัลล์ เริ่มต้นอาชีพการคุมทีมกับ เบิร์นลี่ย์ ก่อนจะย้ายมาทำงานที่ยูไนเต็ดในปี 1903 เขาพาทีมคว้าตำแหน่งรองแชมป์ในดิวิชั่น 2 และเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดในปี 1906 หลังจากนั้น ใช้เวลาอีกเพียงแค่ 2 ปี ก็พาทีมคว้าโทรฟี่แรกในประวัติศาสตร์สโมสร จากการคว้าแชมป์ฟุตบอล ดิวิชั่น 1 ในปี 1908
เขาอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อจนถึงปี 1912 ก่อนจะย้ายไปคุมทีมคู่ปรับร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ โดยฝากความสำเร็จกับสโมสรด้วยการคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1(ลีกสูงสุด) 2 สมัย, เอฟเอ คัพ 1 สมัย และ แชร์ริตี้ ชิลด์ 2 สมัย
4.จอห์น เบนท์ลี่ย์ (1912-1914)
หลังจากผ่านยุคเฟื่องฟูในยุคที่แล้ว ยูไนเต็ด ก้าวสู่ขาลงอีกครั้ง เพราะในช่วงเวลา 2 ปี เขาไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก พาทีมหนีตกชั้นเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่ จอห์น เบนท์ลี่ย์ จะเปลี่ยนตำแหน่งไปดูในส่วนของงานบริหารมากขึ้นในปี 1914 และอำลาทีมไปในอีก 2 ปีถัดมา
5.แจ็ค ร็อบสัน (1914-1921)
เป็นครั้งแรกที่สโมสรเปลี่ยนจากคำว่า “เลขาธิการ” มาเป็น “ผู้จัดการทีม” เป็นครั้งแรก
แจ็ค ร็อบสัน ย้ายจาก ไบรท์ตันฯ มาทำงานที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1914 แต่ในช่วงที่เขาทำงาน ยูไนเต็ดก็ไม่ได้ลุ้นแชมป์ หรือประสบความสำเร็จอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จนในที่สุดเขาก็ล้มป่วยลง และอำลาตำแหน่งไปในเดือนตุลาคม 1921
6.จอห์น อัลเบิร์ต แชปแมน (1921-27)
จอห์น แชปแมน เข้ามาปีแรก ก็พายูไนเต็ดจบอันดับบ๊วยของดิวิชั่น 1 และตกชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 2 ทันที อย่างไรก็ตาม เขาใช้เวลา 3 ปี พาทีมเลื่อนชั้นกลับสู่ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ
ในวันที่ 7 ตุลาคม 1926 เขาถูก เอฟเอ ลงโทษแบน จากข้อหาประพฤติมิชอบในการดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีม และหลังพ้นโทษแบน เขาก็โบกมือลา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
7.ลัล ฮิลดิทช์ (1926-1927)
ลัล ฮิลดิทช์ คือคนที่ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทน จอห์น แชปแมน ในตอนที่โดนแบน โดยดำรงตำแหน่งควบทั้ง ผู้เล่น และผู้จัดการทีม
ฮิลดิชท์ เป็นนักเตะในตำแหน่งวิงแบ็ค และอยู่ค้าแข้งกับ ยูไนเต็ด มากกว่า 1 ทศวรรษ ลงสนามไปกว่า 322 นัด ยิงไป 7 ประตู แต่ไม่ได้คว้าแชมป์อะไรในช่วงดังกล่าว ส่วนสถิติตอนที่เขารับตำแหน่งผู้จัดการทีมไปทั้งสิ้น 30 นัด ชนะ 9 เสมอ 7 แพ้ 14
8.เฮอร์เบิร์ต แบมเล็ตต์ (1927-1931)
เป็นอีกหนึ่งยุคที่แมนยูเผชิญหน้ากับยุคมืด โดย เฮอร์เบิร์ต แบมเล็ตต์ เข้ามาคุมทีมหลังผ่านงานกับ โอลด์แฮม แอธเลติก, วีแกน โบโรห์ และ มิดเดิ้ลสโบรช์
เขาเข้ามาทำงานกับในเดือน เมษายน 1927 จนถึงปี 1931 ก่อนจะไม่ได้รับการต่อสัญญา หลังพาทีมแพ้ 12 นัดติดจนทีมตกชั้นสู่ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาลสุดท้าย และพาทีมชนะได้เพียง 57 เกม จาก 182 นัด
9.วอลเตอร์ คริคเมอร์ (1931-1932 และ 1937-1945)
เข้ามาทำงานกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1919 ในตำแหน่งพนักงานทั่วไป ก่อนจะไต่เต้าจนถึงขั้นมีโอกาสได้ทำงานผู้จัดการทีมในปี 1931
ส่วนรอบที่สอง เขาได้รับตำแหน่งอีกครั้งในปี 1937 และได้รับเครดิตอย่างมากกับการทำงานร่วมกับ เจมส์ กิบสัน เจ้าของสโมสรในยุคนั้น ในการช่วยทีมไม่ให้เจอกับสภาวะล้มละลาย รวมไปถึงการพัฒนาระบบนักเตะเยาวชนของทีม จนได้รับสมญานามว่า “มิสเตอร์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด”
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้กลับจบลงแบบโหดร้าย เมื่อเขากลายเป็นหนึ่งใน 23 ผู้เสียชีวิต จากโศกนาฏกรรมที่มิวนิค เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 1958
10.สกอตต์ ดันแคน (1932–1937)
ปีแรกที่ สกอตต์ ดันแคน เข้ามาทำงานกับสโมสร เขาใช้งบประมานของทีมไปแบบมหาศาลในการซื้อนักเตะใหม่เข้ามาร่วมทีม มิหนำซ้ำ เกือบพาทีมตกชั้นสู่ดิวิชั่น 3 ในฤดูกาล 1933
แต่ในอีกสองปีให้หลัง ดันแคน ก็พา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 และเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดสำเร็จอีกครั้ง แต่ก็พาทีมตกชั้นในฤดูกาลถัดมา ก่อนจะลาออกจากทีมไปในปี 1937
11.เซอร์ แมตต์ บัสบี้ (1945-1969 และ 1970-1971)
ทันทีที่ แมตต์ บัสบี้ เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในสโมสร ทีมก็เปลี่ยนสถานะจากทีมที่ขึ้นลงระหว่างดิวิชั่น 1 และ 2 เป็นประจำ กลายมาเป็นทีมหัวแถวของเกาะอังกฤษ เขาพาทีมคว้าแชมป์ในดิวิชั่น 1 ได้ถึง 5 ฤดูกาลในปี 1952, 1956, 1957, 1965 และ 1967 รวมไปถึงการคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1948 และ 1963 ด้วย
ทีมที่ แมตต์ บัสบี้ สร้างขึ้นมานั้น อุดมไปด้วยนักเตะอายุน้อย จนก่อให้เกิดวลีที่ใช้เรียกทีมชุดนี้ขึ้นมาว่า บัสบี้ เบบส์ อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่มิวนิค แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ บัสบี้ เสียหายอย่างหนัก ยูไนเต็ด เสียผู้เล่น และบุคลการในทีมไปมากกว่า 11 คนรวมไปถึงตัวบัสบี้ ที่ถึงแม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็มีปัญหาทางด้านร่างกาย และสภาวะจิตใจอย่างหนัก จนต้องพักจากการคุมทีมไปในช่วงเวลาหนึ่ง
หลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาได้ บัสบี้สร้างทีมขึ้นมาใหม่ ที่ประกอบไปด้วยนักเตะที่เหลือรอดจากโศนาฏกรรม โดยมี บ็อบบี้ ชาร์ลตัน เป็นหลัก รวมไปถึงนักเตะใหม่ๆ ที่เขาดึงมาร่วมทีม ทั้ง เดนิส ลอว์ และ จอร์จ เบสต์
จนในที่สุด ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของทีม ก็เดินทางมาถึงในวันที่ 29 พฤษภาคม 1968 เมื่อ แมตต์ บัสบี้ พาทัพ “ปีศาจแดง” คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ เป็นครั้งแรกของสโมสรบนเกาะอังกฤษ ก่อนจะประกาศรีไทร์ไปแบบยิ่งใหญ่
เซอร์ แมตต์ บัสบี้ กลับมาคุมทีมระยะสั้นๆ อีกครั้งในช่วงท้ายของฤดูกาล 1970 ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งอีกครั้งหลังจบฤดูกาล
12.จิมมี่ เมอร์ฟี่ (1958)
จิมมี่ เมอร์ฟี่ คือคนที่เข้ามาทำงานแทน เซอร์ แมตต์ บัสบี้ ในตอนที่เขายังคงฟื้นฟูสภาพร่างกาย และ จิตใจ ซึ่งในตอนนั้น เมอร์ฟี่ทำงานเป็นผู้จัดการทีมชาติเวลส์
ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เขาพาทีมเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ ในปี 1958 แต่ก็แพ้ต่อ โบลตัน วันเดอเรอร์ส 0-2 ได้เพียงแค่รองแชมป์เท่านั้น
13.วิล์ฟ แม็คกินเนสส์ (1969-1970)
วิล์ฟ แม็คกินเนสส์ เข้ามาสานงานต่อจาก เซอร์ แมตต์ บัสบี้ โดยเขาถูกดันขึ้นมาจากการเป็นผู้จัดการทีมในชุดสำรอง และได้ขึ้นมาทำงานในทีมชุดใหญ่ด้วยอายุแค่ 31 ปี เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม็คกินเนสส์ไม่สามารถทำผลงานในระดับเดียวกับที่ บัสบี้ ทำไว้ได้ ก่อนจะโดนปลดออกจากตำแหน่งกลับไปทำงานกับทีมสำรองตามเดิมในช่วงสิ้นปี 1970
14.แฟรงค์ โอฟาร์เรลล์ (1971-72)
แฟรงค์ โอฟาร์เรลล์ คือคนที่ เซอร์ แมตต์ บัสบี้ ไว้ใจ และเลือกด้วยตนเอง ให้เข้ามาสานงานต่อจากเขา และดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังจะไปได้สวยหลังจากที่ โอฟาร์เรลล์ พาทีมรั้งตำแหน่งจ่าฝูงของลีกเมื่อผ่านวันคริสต์มาสในปี 1971
แต่ผลงานในช่วงครึ่งฤดูกาลหลังของพวกเขากลับสวนทาง ซึ่งมีปัจจัยหลักจากปัญหาส่วนตัวของ จอร์จ เบสต์ ไม่สามารถลงซ้อมกับทีมได้ จนสุดท้ายทัพ “ปีศาจแดง” จบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 8
ในฤดูกาล 1972/73 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผลงานยังคงไม่กระเตื้องขึ้น จอร์จ เบสต์ ถูกสโมสรขึ้นบัญชีขาย และหลังจากความพ่ายแพ้ต่อ คริสตัล พาเลซ 0-5 แฟรงค์ โอฟาร์เรลล์ ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งไปในเดือน ธันวาคม 1972
15.ทอมมี่ ด็อคเคอร์ตี้ (1972-77)
เจ้าของฉายา “เดอะ ด็อก” ถูก เซอร์ แมตต์ บัสบี้ ทาบทามเข้าทำงานด้วยตนเอง แต่ในฤดูกาลที่สองที่เขาทำงาน สโมสรก็ต้องมาตกชั้นกลับไปอยู่ในดิวิชั่น 2 อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ด็อคเคอร์ตี้ พาทีมคว้าแชมป์ดิวิชั่น 2 ได้ในฤดูกาล 1975/76 และมีผลงานชิ้นโบว์แดงด้วยการล้ม ลิเวอร์พูล ในนัดชิงเอฟเอ คัพ 2-1 เมื่อปี 1977
จากนั้นอีกไม่นาน จุดจบของเขากับ ยูไนเต็ด ก็เดินทางมาถึง เมื่อเขาถูกจับได้ว่าไปมีสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับภรรยาของนักกายภาพบำบัดของสโมสร และถูกปลดออกจากตำแหน่งไปในเดือน กรกฎาคม 1977
16.เดฟ เซ็กซ์ตัน (1977-1981)
เดฟ เซ็กซ์ตัน เคยเกือบพา ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 1979 หลังถูกนำไปก่อน 2-0 แต่ก็ทำสองประตูรวดในนาที 86 และ 88 ตีเสมอได้ แต่สุดท้ายก็โดนทีมปืนใหญ่ทำประตูชัยในนาทีที่ 89 ชวดแชมป์ไปแบบน่าเจ็บใจ
ภายในระยะเวลา 4 ปีที่เขาคุมทีม นอกจากการคว้ารองแชมป์ เอฟเอ คัพ แล้ว การได้รองแชมป์ดิวิชั่น 1 ในฤดูกาลเดียวกัน ถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดของ เซ็กซ์ตัน กับสโมสร
17.รอน แอตกินสัน (1981-1986)
รอน แอตกินสัน สามารถพาทีมคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ได้สองสมัยในฤดูกาล 1982/83 และ 1984/85 ทั้งยังมีอีกหนึ่งผลงานที่ “บิ๊กรอน” ทำได้อย่างยอดเยี่ยม คือ การซื้อตัวผู้เล่นมาร่วมทีม
โดยเฉพาะการได้ตัว ไบรอัน ร็อบสัน และ มาร์ค ฮิวจ์ส มาร่วมทีม ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วรายหลังจะย้ายไปเล่นที่ บาร์เซโลน่า ในปี 1986 ก็ตาม