ในโลกของฟุตบอล แต่ละสโมสรจะมีเพลงประจำของทีม ที่ให้เหล่าแฟนบอลของทีม หรือกองเชียร์ ร้องส่งเสียงให้กำลังใจนักฟุตบอลในสนาม และปลุกใจให้ฮึกเหิม โดย “Glory Glory, Man United” สำหรับแฟนๆ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เชื่อว่าเพลงนี้เป็นเหมือนท่วงทำนองที่อยู่ในใจของเหล่าสาวก “ปีศาจแดง” ไม่ต่างจากเพลง “We’ll Never Die” สุดโด่งดังของสโมสรอีกเพลง
ที่มาของเพลง Glory Glory, Man United
เพลง Glory Glory, Man United ถูกดันแปลงมาจากเพลง The Battle Hymn of the Republic ของ จูเลีย วอร์ด ฮาว นักกวี และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ในช่วงสงครามกลางเมืองในอเมริกาเกี่ยวกับการถือครองทาส ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม และฝั่งหัวก้าวหน้า ช่วงปี 1862
เพื่อเป็นการปลุกใจสำหรับของกองทัพฝ่ายเหนือหัวก้าวหน้า โดยมีเนื้อหาเพื่อให้เกิดการรณรงค์เลิกทาสเป็นสำคัญ และด้วยทำนองของเพลงที่ติดหูโดยเฉพาะท่อน “Glory, Glory, Hallelujah” ทำให้เพลงดังกล่าวถูกนำไปแปลงเนื้อหาอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงในโลกของฟุตบอลอีกด้วย
หลายสโมสรต่างหยิบยืมบริบทของเพลง The Battle Hymn of the Republic มาต่อยอดเป็นเพลงปลุกใจให้กับสโมสรรักได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเพลงเชียร์เหล่านี้ยังเป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ จดจำความยิ่งใหญ่ในแต่ละยุคของสโมสร ที่จะส่งต่อเรื่องราวให้แฟนบอลรุ่นใหม่ต่อไปได้ไม่รู้จบ โดยในเกาะอังกฤษทีมแรกที่นำเพลงนี้มาดัดแปลงคือ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์
ต้นกำเนิดของเพลง Glory Glory, Man United
จุดกำเนิดของเพลงนี้เกิดขึ้นในศึก เอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศปี 1983 แมตช์ที่ “ปีศาจแดง” ต้องแข่งขันกับม้ามืดในปีนั้นอย่าง ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน ที่พึงตกชั้นจาก ดิวิชั่น 1 (พรีเมียร์ลีก) ผลปรากฏว่าทีมมวยรองอย่าง “เจ้านกนางนวล” สามารถสู้กับแมนยูที่เป็นตัวเต็งปีนั้นได้อย่างสูสี และจบเกมส์ด้วยผลเสมอ 2-2 โดยในยุคนั้นยังไม่มีการดวลลูกโทษในอังกฤษ ทำให้ทั้งสองทีมต้องกลับมาเตะเพื่อหาผู้ชนะอีก 5 วันถัดไป
เหตุการณ์นี้ ทำให้แฟนบอลแมนฯ ยูไนเต็ด เริ่มขยับตัวรวมพลังกันหาทางช่วยให้ทีมรักของพวกเขา สามารถเอาชนะทีมจาก ดิวิชั่น 2 อย่าง ไบรท์ตันฯ ให้ได้ เหล่าสาวกจึงว่าจ้าง แฟร้งค์ เรนชอว์ มือกีตาร์จากคณะ Herman’s Hermits วงดังจากเมืองแมนเชสเตอร์ ในยุค 60-70 ให้ช่วยแต่งเนื้อเพลงให้ ด้วยการแปลงเนื้อหาจาก The Battle Hymn of the Republic ให้มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของสโมสร
แฟรงก์ เรนชอว์ เรียบเรียงเพลงออกมาโดยใช้เวลาไม่นาน และมีทำนองกับเนื้อร้องที่ไม่ซับซ้อน ทำให้แฟนบอลสามารถร้องตามได้ง่าย ทำให้นัดชิงรีเพลย์ที่สนามเวมบลี่ย์ กลายเป็นเสียงตะโกนกระหึ่มของทัพปีศาจแดง ส่งผลถึงผู้เล่นของปีศาจแดงที่ฮึกเหิม และผลสกอร์ในวันนั้นจบลงด้วยการที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถล่ม ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน ไปถึง 4-0
เนื้อร้องข่มขวัญ ศึก เอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศปี 1983
โดย 1 ท่อนของเพลง “Glory Glory, Man United” ที่ใช้ร้องปลุกใจ และข่มขวัญผู้เล่น ไบรท์ตันฯ มีเนื้อหาว่า “In ’77 it was Docherty, Atkinson will make it ’83, And everyone will know just who we are, They’ll be singing que sera sera”
แปลไทย “อย่างปี 77 ที่โค้ช ทอมมี่ ด็อคเคอร์ตี้ พาเราคว้าแชมป์ (ชนะลิเวอร์พูล 2-1 ในถ้วยเอฟเอ คัพ)
และโค้ช รอน แอตกินสัน จะทำได้อีกในปี 83 (ชนะ ไบรจ์ตัน 4-0 ในเกมรีเพลย์หลังจากเสมอในนัดแรก 2-2) แล้วทุกคนจะได้รู้ว่าเราคือใครเหล่ากองเชียร์ก็จะร้องเพลงส่งเสียงไม่หยุดไม่ว่าทีมเราจะเป็นยังไง”
เพลง Glory Glory, Man United แม้จะถูกแต่งขึ้นหลัง Glory Glory Tottenham Hotspur ของ “ไก่เดือยทอง” หรือ Glory Glory, Leeds United ของทัพ “ยูงทอง” แต่เรื่องของความขลัง ความสำเร็จ และความโด่งดัง บอกได้เลยว่าไม่แพ้สองเพลงที่มาก่อนแน่นอน.